1. โนรา

เป็นนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาศิลปะการแสดงของภาคใต้
มีความยั่งยืนมานับเป็นเวลาหลายร้อยปี การแสดงโนราเน้นท่ารำเป็นสำคัญ
ต่อมาได้นำเรื่องราวจากวรรณคดีหรือนิทานท้องถิ่นมาใช้ในการแสดงเรื่อง
พระสุธนมโนห์รา เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการแสดงมากที่สุดจนเป็นเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า
มโนห์รา
ตามตำนานของชาวใต้เกี่ยวกับกำเนิดของโนรา
มีความเป็นมาหลายตำนานในแต่ละจังหวัด
ทั้งชื่อที่ปรากฏในเรื่องและเนื้อเรื่องบางตอน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากความคิด
ความเชื่อ ตลอดจนวิธีสืบทอดที่ต่างกัน จึงทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละตำนานแตกต่างกัน
จากการศึกษาท่ารำอย่างละเอียดจะเห็นว่าท่ารำที่สืบทอดกันมานั้น
ได้มาจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติ อาทิ ท่าลีลาของสัตว์บางชนิด เช่น ท่ามัจฉา
ท่ากวางเดินดง ท่านกแขกเต้าเข้ารัง ท่าหงส์บิน ท่ายูงฟ้อนหาง ฯลฯ
ท่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ท่าพระจันทร์ทรงกลด ท่ากระต่ายชมจันทร์
ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาก็มีท่าพระลักษณ์แผลงศร
พระรามน้าวศิลป์ และท่าพระพุทธเจ้าห้ามมาร ท่ารำและศิลปะการรำต่าง ๆ ของโนรา
ท่านผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าเป็นต้นแบบของละครชาตรีและการรำแม่บทของรำไทยด้วย
ท่ารำโนรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ผู้ที่ฝึกหัดนาฏศิลป์ของภาคกลางแล้วจะรำท่าของโนราไม่สวย เพราะการทรงตัว การทอดแขน
ตั้งวงหรือลีลาต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
ผู้ที่จะรำโนราได้สวยงามจะต้องมีพื้นฐานการทรงตัว ดังนี้
- ช่วงลำตัว
จะต้องแอ่นอกอยู่เสมอ หลังจะต้องแอ่นและลำตัวยื่นไปข้างหน้า ไม่ว่าจะรำท่าไหน
หลังจะต้องมีพื้นฐานการวางตัวเช่นนี้เสมอ
- ช่วงวงหน้า วงหน้า หมายถึง
ส่วนลำคอกระทั่งศีรษะ จะต้องเชิดหน้าหรือแหงนขึ้นเล็กน้อยในขณะรำ
- ช่วงหลัง ส่วนก้นจะต้องงอนเล็กน้อย
การย่อตัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
การรำโนรานั้นลำตัวหรือทุกส่วนจะต้องย่อลงเล็กน้อย นอกจากย่อลำตัวแล้ว
เข่าจะต้องย่อลงด้วย
วิธีการแสดง
การแสดงโนราเริ่มต้นจากการลงโรง
(โหมโรง) กาดโรงหรือกาดครู (เชิญครู) "พิธีกาดครู"
ในโนราถือว่าครูเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นก่อนที่จะรำจะต้องไหว้ครู
เชิญครูมาคุ้มกันรักษา หลายตอนมีการรำพัน สรรเสริญครู สรรเสริญคุณมารดา
เป็นต้น
การแต่งกาย
การแต่งกายของโนรา
ยกเว้นตัวพรานกับตัวตลก จะแต่งเหมือนกันหมด ตามขนบธรรมเนียม เดิมการแต่งกายก็ถือเป็นพิธีทางไสยศาสตร์
ในพิธีผูกผ้าใหญ่ (คือพิธีไหว้ครู) จะต้องนำเทริดและเครื่องแต่งกายชิ้นอื่น ๆ
ตั้งบูชาไว้บนหิ้ง หรือ "พาไล"
และเมื่อจะสวมใส่เครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นจะมีคาถากำกับ โดยเฉพาะการสวม "เทริด" ซึ่งมักจะต้องใช้ผ้ายันต์สีขาวโพกศีรษะเสียก่อนจึงจะสวมเทริดทับ
เทริด คือ เครื่องสวมหัวโนรา
เดิมนั้นเทริดเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ทางอาณาจักรแถบใต้
อาจเป็นสมัยศรีวิชัยหรือศรีธรรมราช
เมื่อโนราได้เครื่องประทานจากพระยาสายฟ้าฟาดแล้วก็เป็นเครื่องแต่งกายของโนราไป
สมัยหลังเมื่อจะทำเทริดจึงมีพิธีทางไสยศาสตร์เข้าไปด้วย